วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552

ศาสนาเชน(jain religion)

ศาสนาเชน(Jain religion)

ศาสนาเชนกำเนิดในเอเชียใต้ คือบริเวณประเทศอินเดียในปัจจุบันในราว 635 ปีก่อนคริสต์ศํกราชเกิดก่อนศาสนาพุทธประมาณ 43 ปี มีพระมหาวีระเป็นศาสดา (แต่ศาสนิกชนมีความเชื่อว่าศาสนาเชนมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ก่อนหน้าศาสดาพระมหาวีระช้านาน และเชื่อกันว่าพระมหาวีระ คือ องค์ศาสดา หรือตีรถังกรองค์สุดท้าย(ผู้สร้างทางข้ามพ้นไป) เป็นศาสดาองค์ที่ 24 ของศาสนาเชน โดยศาสดาองค์ก่อนพระมหาวีระคือ องค์ศาสดาปราศวนาท ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนการนิพพานของมหาวีระ) เป็นศาสนาที่เกิดจากการปฏิรูปศาสนาพราหมณ์ ในด้าน คำสอน ความเชื่อถือ และศาสนาพิธี ตลอดทั้งปฏิเสธเรื่องพระเจ้าเป็นศาสนาประเภท"อเทวนิยม" ศาสนาเชนสอนเน้นหนักในการบำเพ็ญทุกขกิริยา คำว่า “เชน” บางทีออกเสียงว่า ไชน์ หรือ ไยน์ มาจากคำว่า “ชินะ” แปลว่า “ผู้ชนะ” เพราะฉะนั้น ศาสนาเชนจึงหมายความว่าศาสนาแห่งผู้ชนะ (ชนะตนเอง) มหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนมีนามเดิมว่า วรรธมานะ แปลว่า ผู้เจริญ ประสูติ ณ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ในภาคเหนือ ของอินเดีย ในราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช กำเนิดในสกุลกษัตริย์ พระบิดานามว่า สิทธารถะ พระมารดานามว่า ตริศาลา มีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน 2 องค์ คือ พระเชษฐภคินี และพระเชษฐภาดา พระมหาวีระ เป็นโอรสองค์สุดท้าย ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะ ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชที่นครเวสาลีอย่างใหญ่โตมโหฬาร พระเจ้ากรุงเวสาลีทรงบำเพ็ญทานโปรดให้แจกจ่ายสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคแก่คนยากไร้อนาถาและให้ประกาศนิรโทษแก่นักโทษที่ถูกจองจำ ยิ่งกว่านั้นบรรดา นักพรตและเหล่า พราหมจารย์ ต่างก็ได้พยากรณ์ว่า เจ้าชายจะทรงเป็นผู้มีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ โดยมีคติเป็น 2 คือ 1. ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิ 2. ถ้าทรงออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก
เมื่อเจริญวัยได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์หลายอย่างโดยควรแก่ฐานะแห่งกษัตริย์ เผอิญวันหนึ่งขณะเล่นอยู่กับสหาย ได้มีช้างตกมันตัวหนึ่งหลุดออกจากโรงวิ่งมาอาละวาด ทำให้ฝูงชนแตกตื่นตกใจ ไม่มีใครจะกล้าเข้าใกล้และจัดการช้างตกมันตัวนี้ให้สงบได้ แต่เจ้าชายวรรธมานได้ตรงเข้าไปหาช้างและจับช้างพากลับไปยังโรงช้างได้ตามเดิม เพราะเหตุที่แสดงความกล้าหาญจับช้างตกมันได้จึงมีนามเกียรติยศว่า "มหาวีระ" แปลว่า ผู้กล้าหาญมาก
เมื่อเจ้าชายวรรธมานะมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา ทรงได้รับพิธียัชโญปวีตคือพิธีสวมด้ายมงคลแสดงพระองค์เป็นศาสนิกตามคติศาสนาพราหมณ์ โดยบิดาได้ทรงส่งเจ้าชายวรรธมานะไปศึกษาลัทธิของพราหมณษจารย์หลายปี เจ้าชายทรงสนพระทัยในการศึกษาแต่ในพระทัยมีความขัดแย้งกับคำสอนของพราหมณ์ที่ว่า “วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุดในโลก ส่วนวรรณะอื่นต่ำต้อย แม้วรรณะกษัตริย์ยังต่ำกว่าวรรณะพราหมณ์ แต่แล้วพวกพราหมณ์ได้ประพฤติกาย วาจาและใจ เลวทรามไปตามทิฐิและลัทธินั้นๆ”
เมื่อเจ้าชายวรรธมานมีพระชนมายุได้19พรรษา พระบิดาทรงจัดให้อภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงยโสธรา ซึ่งเวลาต่อมาได้พระธิดาองค์หนึ่งนามว่า อโนชา หรือ ปริยทรรศนา เจ้าชายวรรธมานกับพระชายาได้เสวยสุขในฆราวาสวิสัยด้วยความเกษมสำราญ
จนพระชนมายุได้ 28 พรรษา มีความเศร้าโศกเสียพระทัยอย่างมากจากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดาและพระมารดา ด้วยวิธีการอดอาหารตามข้อวัตรปฏิบัตรในศาสนาพราหมณ์ซึ่งเรียกว่า "ศาสนอัตวินิบาตกรรม" ซึ่งถือว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง พร้อมทั้งได้ ทรงสละพระชายาและพระธิดา เปลี่ยนผ้าคลุมพระกายเป็นแบบนักพรต เสด็จออกจากนครไพสาลี และได้ทรงประกาศมหาปฏิญญาในวันนั้นว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 12 ปี ขอไม่พูดกับใครแม้คำเดียว พระมหาวีระได้ทรงบำเพ็ญตนเป็นนักพรตถือการขอเป็นอาชีพ ได้เสด็จเที่ยวไปตามคามนิคมต่างๆโดยมิได้พูดอะไรกับใครเป็นเวลา 12 ปี ได้บรรลุความรู้ขั้นสูงสุดเรียกว่า ไกวัล ถือเป็นผู้หลุดพ้นกิเลสทั้งปวง เป็นพระรหันต์และเป็นผู้ชนะโดยสิ้นเชิง เมื่อพระมหาวีระได้ทรงบรรลุไกวัลแล้ว จึงทรงพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องละปฏิญญานั้นเสียกลับมาสู่ภาวะเดิมคือยองพูดกับคนทั้งหลาย เพื่อช่วยกันปฏิรูปความคิดและความประพฤติเสียใหม่ แล้วได้เริ่มเที่ยวประกาศศาสนาใหม่อันได้นามว่า ท่านเชน ศาสดามหาวีระได้ทรงใช้เวลาในการสั่งสอนสาวกไปตามคามนิคมต่างๆเป็นเวลา30ปี
และเมื่อมีพระชนมายุได้72 ปี ได้ทรงประชวรหนัก ทรงทราบว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง จึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลาย และสั่งสอนเป็นโอกาสสุดท้ายและได้ทรงเข้าถึงนิพพานหรือมรณภาพ ประมาณปีที่ 572 ก่อน ค.ศ. ที่เมืองปาวาหรือสาธารณรัฐมัลละและปาวาบุรีนี้ได้เป็นสังเวชนียสถานสำหรับศาสนิกเชนทุกคน

คัมภีร์ของศาสนาเชน เรียกว่าอาตมะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิทธานตะ หรือคัมภีร์กัลปสูตร ประกอบด้วยคัมภีร์ 45 เล่ม และแบ่งย่อยออกไปเป็นคัมภีร์ละ 11 ส่วน กับเล่มที่ 12 เรียกว่า ฤทธิวาท เป็น อุปางคะ 11 ส่วน แบ่งเป็นมูลสูตร 4 เล่ม เป็นเจตสูตร 6 เล่ม เป็นคูสิกสูตร 2 เล่ม และเป็นปกิณกะ 10 เล่ม(ตามหลักฐานปรากฏว่าได้จารึกเป็นอักษรปรากฤตประมาณ 200ปี ภายหลังสมัยของพระมหาวีระ ส่วนคำอธิบายคัมภีร์ และวรรณคดีของเชนในสมัยต่อมา ล้วนเป็นภาษาสันสกฤต ส่วนแรกแห่งคำสอนประกอบด้วยอังคะ(ส่วน) 12 อังคะ แต่อังคะที่ 12 ได้สูญหายไป ตามหลักฐานปรากฏว่า ได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ประมาณ 200 ปีภายหลังสมัยของมหาวีระองค์ศาสดาของศาสนาเชน /คัมภีร์ในปัจจุบันมีอยู่ 37 คัมภีร์ส่วนใหญ่จะเขียนขึ้นมาภายหลัง กล่าวถึงชีวประวัติของมหาวีระสาวกของศาสนาเชนโดยมีความเห็นในเรื่องคัมภีร์ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น นิกายเศวตัมพรยึดคัมภีร์อาคมะเป็นคัมภีร์ศาสนาของพวกตนภายใต้ความเชื่อว่าสาวกผู้ใกล้ชิดมหาวีระเป็นผู้รวบรวมคัมภีร์อาคมะขึ้น แต่นิกายทิคัมพร เชื่อว่าคัมภีร์ดั้งเดิมได้สูญหายไปแล้ว คำสอนของมหาวีระถูกรวบรวม แก้ไข หรือเขียนเพิ่มเติมขึ้นโดยนักบวชสมัยโบราณหลายท่าน )

หลักการสำคัญของศาสนา คือ การเข้าถึงจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิตคือความหลุดพ้น(โมกษะหรือนิรวารณะ) อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร ผู้หลุดพันจากเครื่องผูก คือ กรรม ได้ชื่อว่า สิทธะ หรือ ผู้สำเร็จ เป็นผู้ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนต่อกลิ่น ปราศจาก ความรู้สึกเรื่องรส ไม่มีความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา ไม่มีความหิว ความเจ็บปวด ความเสียใจ ความดีใจ ไม่เกิด แก่ ตาย ไม่มีรูป ไม่มีร่างกาย ไม่มีกรรม เสวยความสงบอันหาที่สุดมิได้ โดยมีวิธีการที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่เรียกว่า อนุพรต 5 จนถึงอย่างสูงที่เป็นข้อปฏิบัติอันยิ่งใหญ่และสำคัญคือ มหาพรต 3

หลักธรรมคำสอนของศาสนาเชน แบ่งออกเป็นหลักใหญ่ๆ กว้างๆ 3 หลัก ดังนี้
1.ข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐาน ได้แก่ หลักอนุพรต 5 (ศีล 5 ) มีดังต่อไปนี้
1.1 อหิงสา การไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายชีวิต โดยได้มีการแบ่งชั้นของสัตว์ตามความสามารถทางประสาทสัมผัส และตามลักษณะที่เคลื่อนไหวได้หรือไม่ได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.1.1.สถาวระ(ประเภทเคลื่อนไหวไม่ได้) มีเพียงอายตนะเดียวคือ อายตนะสำหรับสัมผัสได้แก่ ผักหญ้า และ1.1.2.ตรุสะ(ประเภทเคลื่อนไหวได้) มี4ปรเภท คือ 1) สัตว์ที่มีอายตนะ 2 คือ ทางสัมผัสกับทางลิ้มรส เช่น หนอน 2)สัตว์ที่มีอายตนะ 3 คือ ทางสัมผัส ลิ้มรส และได้กลิ่น เช่น มด 3)สัตว์ที่มีอายตนะ 4 คือ เพิ่มในทางมองเห็น เช่น ผึ้ง 4)สัตว์ที่มีอายตนะ 5 คือ เพิ่มในทางได้ยินเสียง เช่น นก
ผู้ที่นับถือศาสนาเชนจะฆ่าหรือกินสัตว์เหล่านี้ไม่ได้ จะทำได้เฉพาะที่มีอายตนะทางสัมผัสอย่างเดียว คือ ผักหญ้า สรุปก็คือ เชนศาสนิกทุกคนทานอาหารมังสวิรัติ
1.2 สัตยะ พูดความจริง ไม่พูดเท็จ
1.3 อัสเตยะ ไม่ลักขโมย รวมทั้งไม่หลบเลี่ยงภาษีอากร
1.4 พรหมจรยะ อย่างต่ำคือการไม่ประพฤติผิดในกาม
1.5 อปริครหะ การไม่โลภ ไม่ควรมีข้าวของมากเกินจำเป็น
2.ข้อปฏิบัติขั้นสูง เรียกว่าหลักมหาพรต3 เป็นข้อปฏิบัติสำคัญและยิ่งใหญ่ ได้แก่
2.1.สัมยัคทรรศนะ ความเชื่อที่ถูกต้องได้แก่ เชื่อในศาสดาทั้ง 24 องค์ ของศาสนาเชน เชื่อในเชนศาสตร์ หรือคัมภีร์ของศาสนาเชน และเชื่อในนักบวชผู้สำเร็จผลในศาสนาเชน
2.2.สัมยัคญาณะ ความรู้ที่ถูกต้องได้แก่ รู้สิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง และด้วยความแน่ใจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ข้อ ดังนี้
2.2.1.ชญาน แบ่งออกเป็น 5 ประการ ดังนี้ 1) มติชญาน ความรู้ทางประสาทสัมผัส 2) ศรุติชญาน ความรู้เกิดจากการฟัง 3) อวธิชญาน ความรู้เหตุที่ปรากฎในอดีต 4) มนปรยายชญาน ชญานกำหนดรู้ใจผู้อื่น 5) เกวลชญาน ชญานอันสมบูรณ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนบรรลุนิรวาณ
2.2.2.ชีวะและอชีวะ ศาสนาเชนเป็นศาสนาทวินิยม กล่าวคือ มองสภาพความจริงว่ามีส่วนประกอบของสิ่งที่มีอย่างเที่ยงแท้เป็นนิรันดรว่ามีอยู่ 2 สิ่งดังนี้ 1.) ชีวะ ได้แก่ วิญญาณ หรือสิ่งมีชีวิต หรือ อาตมัน 2.) อชีวะ ได้แก่ อวิญญาณ หรือสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่วัตถุ มีสสารประกอบด้วยองค์ประกอบขั้นพื้นฐาน 5 ประการ คือ การเคลื่อนไหว(ธัมมะ) การหยุดนิ่ง(อธัมมะ) อวกาศ(อากาศ) สสารและกาล ทั้งหมดเป็นนิรันดร(ปราศจากการเริ่มต้น) และทั้งหมดยกเว้นวิญญาน(ชีวะ) เป็นสิ่งไม่มีชีวิต และทั้งหมดยกเว้นสสาร เป็นสิ่งไม่มีตัวตน การเคลื่อนที่และการหยุดนิ่ง โดยตัวของมันเองไม่มีอยู่ จะต้องมีสิ่งอื่นมาทำให้มันเคลื่อนที่และหยุดนิ่ง องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของอชีวะหรือสสารทั้ง 5 ดังกล่าวมีกาล(เวลา) ซึ่งเป็นนิรันดรเป็นองค์ประกอบ
ถ้ากล่าวโดยพิสดารทุกอย่าง แบ่งออกเป็น 9 ดังต่อไปนี้
1. ชีวะ หรือ อาตมัน 2. อชีวะ หรือวัตถุ 3. ปุณยะ ได้แก่ บุญ 4. ปาปะ ได้แก่ บาป 5. กรรม ได้แก่ การกระทำ 6. พันธะ ได้แก่ ความผูกพัน 7. สังสาระ ได้แก่ ความเวียนว่ายตายเกิด 8. นิรชระ ได้แก่ การทำลายกรรม
9. โมกษะ ได้แก่ ความหลุดพ้น
2.3.สัมยัคยาริตะ ความประพฤติที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดกล่าวคือหากบุคคลใดมีความเชื่อและความรู้ที่ถูกต้องตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องได้ก็จะไม่สามารถเข้าถึงความหลุดพ้น(โมกษะ)ซึ่งก็คือความเป็นอิสระของวิญญาน พูดง่ายๆคือ การทำให้วิญญานหลุดพ้นจากอัตตา และจากความไม่บริสุทธิ์ ไม่ต้องมาเกิดอีกโดยไปอยู่ในส่วนหนึ่งของเอกภาพที่เรียกว่า "สิทธศิลา" ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุขนิรันดร (แต่ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อวิญญานหลุดพ้นแล้วจะไปรวมอยู่กับพรหม ) โดยการปฏิบัติที่จะให้ถึงความหลุดพ้น(โมกษะ)นั้น จะต้องมีความประพฤติที่ถูกต้องในข้อปฏิบัติทั้งของนักบวชและคฤหัสถ์ แต่ที่นับว่าสำคัญที่สุดก็คือ อหิงสา การไม่เบียดเบียน หลักปฏิบัติดังกล่าวเป็นทางทำลายกรรม คือการกระทำ ซึ่งเป็นเหตุให้เิกิดการถูกผูกมัด หรือผูกพันตามหลักปรัชญาของศาสนานี้

นิกายสำคัญของศาสนาเชน ศาสนาเชนมีนิกายที่สำคัญอยู่ 2 นิกาย
1.นิกายเศวตัมพร นิกายนุ่งผ้าขาว ถือว่าสีขางเป็นสีบริสุทธิ์ นำโดยสถูลภัทร ส่วนใหญ่ประจำอยู่ในแคว้นพิหาร ที่หน้าสำนักจะติดตั้งรูปตีรถังกรประดับด้วยเครื่องนุ่งห่มและมองตรงไปข้่างหน้าปฏิบัติธรรมถือหลักศีล 5 เป็นพื้น คือ อวิหิงสา สัจจะ อัสเตยะ พรหมจรรย์และอปริครหะ มีการทำสังคายนา รวบรวมคัมภีร์ศาสนาไว้เป็นหมวดหมู่ มีการแตกแยกเป็นนิกายย่อยลงไปอีกถึง 84 นิกาย ที่ต่างกันโดยมากเป็นเรื่องของความเห็นที่ทำให้การปฏิบัติต่างกันออกไป เช่น นิกายหนึ่งเห็นว่าต้องบูชารูปตีรถังกรเพราะเป็นศาสดา อีกนิกายหนึ่งเห็นว่า เพียงเคารพนับถือก็พอไม่ต้องบูชาเพราะ ตีรถังกรมิใช่เทพเจ้า อีกนิกายหนึ่งเห็นว่า ควรสร้างรูปเคารพแต่อีกนิกายเห็นว่าไม่ควรสร้างรูปเคารพ เป็นต้น
2.นิกายทิคัมพร นิกายนุ่งลมห่มฟ้า ( เปลือยกาย) นำโดยภัทรพาหุ ปฏิบัติเคร่งครัดโดยเฉพาะข้อ ยริครหะ คือ ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม มีลักษณะเป็นการทรมานตน ศาสนิกโดยทั่วไปไม่สามารถจะปฏิบัติตามได้ ถือหลักที่สำคัญที่สุด 3 ประการคือ 1) การอดอาหารหรือไม่กินอาหารใดๆแม้แต่น้ำ 2) ไม่มีพันธนาการแม้แต่ผ้านุ่งห่มใดๆ รวมทั้งสมบัติอื่นๆ 3) ไม่อนุญาตให้สตรีบวชและบรรลุธรรม
แบ่งแยกออกเป็นนิกายย่อยอีก 5 นิกาย ไม่มีการทำสังคายนาถือคัมภีร์ที่รวบรวมโดยภัทรพาหุว่าสมบูรณ์แล้ว รูปองค์ตีรถังกรในสำนักเป็นรูปเปลือย นักบวชไม่ใช้เครื่องนุ่งห่ม
สัญลักษณ์ของศาสนาเชน สัญลักษณ์โดยตรงของศาสนาเชนก็คือ รูปปฏิมาของศาสดามหาวีระ ซึ่งในโบสถ์หรือในวัดเชน ทั่ว ๆ ไปจะมีรูปปฏิมาของศาสดาประดิษฐานอยู่ หรือภายในบ้านของศาสนิกชนเชนก็มีรูปปฏิมาโลหะไว้บูชา ต่อมา ศาสนาเชนได้ถือเอาลวดลายต่างๆ ซึ่งมีภาพมหาวีระอยู่ในวงกลมประกอบอยู่ด้วย
ปัจจุบันได้ถือรูปทรงกระบอกตั้ง มีบรรจุสัญลักษณ์อยู่ข้างใน 4 ประการ ดังนี้
1. รูปกงจักร สัญลักษณ์อหิงสาอยู่บนฝ่ามือ
2. รูปสวัสดิกะ เครื่องหมายแห่งสังสาร
3. จุด 3 จุด สัญลักษณ์แห่งรัตนตรัย - ความเห็นชอบ ความรู้ชอบ ความประพฤติชอบ
4. จุด 1 จุด อยู่บนเส้นครึ่งวงกลมตอนบนสุด คือ วิญญาณแห่งความหลุดพ้น เป็นอิสระสถิตอยู่ ณ สถานที่สูงสุดของเอกภาพ สัญลักษณ์นี้มาจากความเชื่อที่ว่า เวลาและเอกภาพเป็นสิ่งนิรันดร ไม่มีรูป โลกคงมีอยู่ไม่มีวันจบสิ้น เป็นสภาพนิรันดร ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่สภาวะเปลี่ยนแปลงคงอยู่ตลอดกาล อวกาศเป็นสิ่งขยายไร้รูป เป็นที่รองรับเนื้อที่ทั้งมวลของเอกภาพ และเอกภาพมีรูปร่างเหมือนคนยืนกางขา เอามือเท้าสะเอว รูปร่างเพรียว เอวแบน ตรงกลางเอกภาพมีที่สถิตแห่งดวงวิญญาณ เป็นบริเวณที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทุกชนดมีอยู่ เหนือบริเวณตอนกลางของเอกภาพขึ้นไป คือ โลกชั้นบน โลกชั้นนี้มีสองส่วน มีสวรรค์ 16 ชั้น มีเขตของท้องฟ้า 14 เขต ชั้นบนที่สุดของเอกภาพเป็นที่ตั้งของ สิทธศิลา ซึ่งเป็นสถานที่มีลักษณะบริเวณโค้ง เป็นที่สถิตของวิญญาณที่หลุดพ้นออกจากกายที่อยู่บนโลกมนุษย์ เรียก ไกวัล
รูปปฏิมาของศาสดามหาวีระที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ ที่ประดิษฐานที่เมืองโลหะนิปุระ ใกล้ ๆ กับเมืองพิหาร หล่อขึ้นมาในสมัยราชวงศ์เมารยะ และได้ขุดค้นพบที่เมืองกันกาลิทิลา แคว้นมธุระ มากมาย รูปปฏิมาในยุคแรก ๆ ทุกองค์ไม่สวมเสื้อผ้า รูปปฏิมาอีกรูปที่หล่อด้วยทองสำริดอายุเก่าแก่ที่สุด พบได้ในพิพิธภัณฑ์ปรินซ์ออฟเวลล์

ผู้นับถือศาสนาเชน ในอินเดียปัจจุบันมีสาวกศาสนาเชน ประมาณ 2,000,000 คน กระจัดกระจายกันอยู่ในเกือบทุกรัฐของอินเดีย แต่ส่วนใหญ่จะมีอยู่มากในบริเวณภาคตะวันตกของอินเดีย อุตรประเทศ ไมเซอร์ มัธยมประเทศ และมหาราษฏระรา สำหรับประเทศไทยมีเชนศาสนิกชนอยู่ประมาณ 450 ครอบครัว โดย 70-80 ครอบครัว นับถือนิกายเศวตัมพร และอาชีพของพวกเขาก็จะเป็นอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องประดับ เพชร พลอย และอัญมณีอื่นๆ โดย*ศรีฑิฆัมพร สมาช ณ. กรุงเทพมหานคร* ได้ก่อตั้งวัดเชน เมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมามีชื่อว่า *ศรี 1008 มหาวีระ มัณดรา* ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 143/3 ใกล้ตึก บิวล์ดิ้ง อพาร์ตเมนต์ ซอย 45 ถนนเจริญกรุงใหม่

พิธีกรรม พิธีกรรมที่สำคัญของศาสนาเชน คือ
1)การบวชเป็นบรรพชิต เป็นการเปลี่ยนแปลงภาวะของคนธรรมดาสู่ความเป็นนักพรต ครองผ้า 3 ผืน ต้องโกนผมด้วยวิธี ถอนผมตนเอง ฉันอาหารเท่าที่แสวงหามาได้การถืออัตตกิลมถานุโยค ศาสนาเชนถือว่าการทรมานตนให้ได้รับการลำบากต่างๆ เช่นการอดอาหาร การไม่พูดจากับใครจะสามารถทำให้บรรลุโมกษะ
2)พิธีกรรมเนื่องด้วยการระลึกถึงองค์ศาสดาทุกพระองค์ โดยเฉพาะพิธีกรรมระลึกถึงศาสดามหาวีระ เช่น 2.1)พิธีฉลองวันประสูติของมหาวีระ พิธีปัชชุสนะ คือการกระทำใจให้สงบ การอภัย และการเสียสละ อาศัยอยู่เฉพาะที่แห่งเดียวในฤดูฝน มีการบริจาคทานให้คนยากจนในวันสุดท้ายแห่งพิธีกรรม และมีการนำเอารูปองค์ศาสดาไปแห่ตามท้องถนนและในที่ต่างๆ 2. 2)แต่ละปีจะมีการจัดพิธีกรรมที่เรียกว่า ไกตระ คือ การจัดพิธีเคารพรูปองค์ศาสดา ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 9 วัน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน และเดือนกันยายน - ตุลาคม 2.3)พิธีระลึกถึงวันนิรวาณของมหาวีระ วันพระจันทร์เต็มดวงในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ศาสนิกชนก็จะจุดตะเกียง เพื่อให้เกิดแสงสว่างไปทั้งร่างกายและจิตใจ และ2.4)ต่อไปอีก 5 วัน ก็เป็นพิธีญานปัญจมะ พิธีกรรมเคารพพระคัมภีร์ และมีการจาริกแสวงบุญไปยังภูเขาสะตรันชัย อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งตีรถังกรองค์แรก 2.5)พิธีกรรมประจำวัน คือ พิธีชลบูชา การทำความสะอาดองค์ตีรถังกรด้วยน้ำและเช็ดให้แห้งอย่างสำรวมระวังมิให้น้ำหกหยดลงพื้นเด็ดขาด แล้วยังต้องล้างด้วยน้ำนมอีกแล้วกรองผ้าให้ใหม่ ตกแต่งให้งามด้วยเครื่องประดับ เช่น ทอง เงิน สร้อย มงกุฎ กำไล หรือพวงมาลัย เป็นต้น และการถวายอาหาร คือ ข้าว และผลไม้แห้งในเวลาเช้า และ 2.6)พอตอนเย็นทำพิธีอารติบูชา คือการแกว่งตะเกียงจากซ้ายไปขวาเบื้องหน้าองค์ตีรถังกรในนิกายเศวตัมพร
ปัจจุบัน ศาสนาเชนได้แปลงหลักการศาสนา กำหนดข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์และบรรพชิต คังนี้
1)ข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือน มี 12 ข้อ ดังนี้ 1.เว้นจากการฆ่าสัตว์ 2.เว้นจากการพูดเท็จ 3.เว้นจากการลักฉ่อ 4.สันโดษในลูกเมียตน 5.มีความปรารถนาพอสมควร 6.เว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร 7.อยู่ในเขตของตนตามกำหนด 8.พอดีในการบริโภค 9.เป็นคนตรง 10.บำเพ็ญพรตประพฤติวัตรในคราวเทศกาล 11.รักษาอุโบสถ 12.บริบูรณ์ด้วยปฏิสันถารต่ออาคันตุกะ
2) ข้อปฏิบัติของบรรพชิต มี เพิ่มอีก 3 ข้อ 1. ห้ามประกอบเมถุนธรรม 2.ห้ามเรียกสิ่งต่างๆว่าเป็นของตนเอง 3.กินอาหารเที่ยงแล้วได้ แต่ห้ามกินในราตรี
--------------------------------

วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

ศาสนาพราหมณ์และฮินดู/Brahminism/Hindu

ศาสนาพราหมณ์(Brahminism)
ศาสนาพราหมณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศอินเดียปัจจุบัน ก่อนศาสนาพุทธประมาณ1,000 ปี กำเนิดขึ้นจากลัทธิเซ่นไหว้บูชาและความเชื่อถือในอิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้าซึ่งปรากฏของธรรมชาติ เป็นศาสนาธรรมชาติ ไม่มีผู้ตั้งศาสนาที่เป็นมนุษย์ เริ่มต้นจากชาวอารยันอพยพจากถิ่นอื่นเข้ามาในประเทศอินเดีย ตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคเหนือของแคว้นปัญจาบแล้วเคลื่อนขยายตัวอยู่ถาวรในเขตลุ่มแม่น้ำคงคา ใกล้กับนครนิวเดลฮี โดยมีบทสวด(โศลก) ขับร้องสรรเสริญเทพเจ้าที่ชนเผ่าอารยันสักการะซึ่งท่องจำจากปากสืบทอดมาเกินกว่า3,000 ปี มีคัมภีร์ ซึ่งเรียกยุคนี้ว่ายุคพระเวท
ต่อมาได้เกิดลัทธิและปรัชญาเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ขึ้นมากในช่วงก่อน พ.ศ.57-พ.ศ.753 (ซึ่งได้เกิดศานาพุทธและเชนในพื้นที่ประเทศอินเดีย) จำนวน 6 ลัทธิ คือ ลัทธิสางขยะ ลัทธิโยคะ ลัทธินยายะ ลัทธิไวเศษิกะ ลัทธิวิมางสา และลัทธิเวทานตะ โดยลัทธิต่างๆเหล่านี้เกิดจากความเห็นเกี่ยวกับคัมภีร์อุปนิษัท(เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงความคิดเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณ พระเจ้า มนุษย์และโลก)ที่มีจุดมุ่งหมายคือการหลุดพ้น (เรียกว่าโมกษธรรม) ยุคนี้เรียกว่ายุคมหากาพย์ หรือทัศนะทั้ง6
ในที่สุด(ระหว่าง พ.ศ.743-ปัจจุบัน)ได้มีการรวบรวม เรียบเรียงปรัชญาและทัศนะต่างๆจากมหากาพย์ เพื่อให้จดจำง่ายขึ้นเป็นคัมภีร์ และได้เกิดศาสนาฮินดู โดยศาสนาพราหมณ์มีคัมภีร์ 2 ประเภท คือ 1.คัมภีร์ศุรติ เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้มนุษย์ทราบ และ 2.คัมภีร์สุมฤดี เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
1.คัมภีร์ศุรติ ที่สำคํญคือ 1.1.คัมภีร์ฤคเวท เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุด กล่าวถึงบทเพลงสวด หรือมนต์สรรเสริญอ้อนวอนพระเจ้าและเทวี เกี่ยวกับการสร้างโลก และในการกำหนดหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ โดยแบ่งเป็น 4 วรรณะ 1.2.คัมภีร์ยชุรเวท เป็นบทสวดที่ใช้ดำเนินการพิธีกรรม หรือบวงสรวง 1.3.คัมภีร์สามเวท เป็นคัมภีร์ที่บันทึกและประมวลบทสวดจากคัมภีร์ฤทเวท ที่ใช้สวดในพิธีถวายน้ำโสมแด่พระอินทร์ และคำสรรเสริญขับกล่อมเทพเจ้า( ทั้ง 3 คัมภีร์นี้รวมเรียกว่าไตรเวท หรือไตรเพท โดยแบ่งเป็น 4 หมวด คือ 1.สังหิตาหรือมันตรา เป็นหมวดรวมหรือชุมนุม สดุดีเทพเจ้าในพิธีบูชายํญ แต่งเป็นร้อยแก้วร้อยกรอง 2.หมวดพราหมณะ เป้นหมวดที่แต่งเป็นความเรียงที่อธิบายความหมายของบทสดุดี ใช้เป็นคู่มือเฉพาะ พรามณ์ผู้ทำพิธี 3.อรัณยกะ เป็นหมวดข้อปฏิบัติของพราหมณ์ในการดำเนินชีวิตในป่า โดยสละสมบัติส่วนตัวทั้งหมด และ4.อุปนิษัท เป็นหมวดคัมภีร์ปรัชญากล่าวถึงความคิด ความเห็น เรื่องพระเจ้า โลก มนุษย์ และวิญญาณ ) 1.4.คัมภีร์อถรรพเวท เป็นคัมภีร์ที่กล่าวเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ระบุเกี่ยวกับถ้อยคำเป็นมนต์คาถาอาคมขลังต่างๆ ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่จะทำให้เกิดความเจริญ ความเสื่อม ทำให้บุคคลรัก เสียหาย หรือตาย
2.คัมภีร์สุมฤดี เป็นคัมภีร์ที่บันทึกเรื่องราวสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและท่องจำสืบทอดกันมา มี 3 คัมภีร์ คือ 1.คัมภีร์ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหลักกฏหมาย จารีตประเพณี สิทธิและหน้าที่ของคนในสังคม ซึงเป็นหลักการที่มีอิทธิพลเหนือกฏหมายของทุกประเทศที่กฏหมายธรรมศาสตร์เผยแพร่ไปถึง 2.คัมภีร์อติหาส เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวที่เล่าสืบทอดกันมา ได้แก่มหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ ฯลฯ และ3.คัมภีร์ปุราณะ ได้กล่าวเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ของชาวฮินดูสมัยโบราณและสมัยกลาง โดยรวบรวมเป็นหมวดหมู่เช่นสารานุกรม มี18 เล่ม ประกอบด้วย ปัญจะลักษณะ(ลักษณะ5ประการ) ได้แก่ เรื่องความเป็นมาของเอกภพ เรื่องความพินาศและการกลับฟื้นคืนใหม่ของเอกภพ เรื่องประวัติเทพเจ้าและทวยเทพ เรื่องการครองโลกของพระมนู 14 องค์และเรื่องประวัติสุริยวงศ์และจันทรวงศ์ (ซึ่งเป็นคัมภีรืที่ใช้ภาษาง่าย รวบรวมประเพณีและวัฒนธรรม คติธรรม คำสั่งสอนของศาสนา ปรัชญา เทพนิยายต่างๆ

ศาสนาฮินดู(Hindu)
เป็นศาสนาที่มีพัฒนาการสืบทอดมาจากศาสนาพราหมณ์ เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นศาสนาประเภทเทวนิยมเต็มรูปแบบ โดยยึดหลักการการเคารพบูชาเทพเจ้า มีคัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และใช้เป็นหลักในการดำเนินวิถีชีวิตของชาวฮินดูตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งระบบวรรณะในการจัดระบบทางสังคมที่แบ่งเป็น 4 วรรณะคือพราหมณ์ กษัตริย์ แพทย์และสูทร
โดยได้ผนวกคำสอนที่เกิดขึ้นใหม่และได้รับการยอมรับนอกเหนือจากหลักการของศาสนาพราหมณ์ คือคำสอนในคัมภีร์ภควัคคีตา ซึ่งได้เน้นหลักการ 4อย่างคือ 1.ภาวะสูง สุดแห่งวิญญาณของโลก เรียกว่า พรหม 2.ความเป็นภาวะอนิจจังของวัตถุโลกธาตุ 3.วัฏจักรของวิญญาณ 4.ความวิริยะตัดกงล้อแห่งวัฏจักรของวิญญาณนั้น
ซึ่งหลักการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเชื่อแก่ชาวฮินดู 2 ประการคือ 1.การเวียนว่ายตายเกิดอันเกิดจากผลของการทำความดีความเลวในอดีตชาติมีผลต่อชาติกำเนิดในปัจจุบัน และ 2.บุคคลในแต่ละวรรณะไม่อาจเกี่ยวข้องกันสัมพันธ์กันได้โดยเด็ดขาด และหากมีการแต่งงานข้ามวรรณะบุตรธิดาจะกลายเป็นคนนอกวรรณะเรียกว่าจัณฑาล ซึ่งมิอาจเกี่ยวข้องดำรงตนในวรรณะใดได้ด้วย จึงเป็นผลให้สังคมของชาวอินเดียมีลักษณะการแบ่งแยก ต่างคนต่างอยู่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย
ปัจจุบันศาสนาฮินดูมี 4 ลัทธิได้แก่
1.ลัทธิบูชาพระศิวะ(Saivism) หรือไศวะนิกาย เชื่อพระศิวะเป็นผู้สร้างแก่นสารแห่งสากลโลก โดยสร้างศิวลึงค์เป็นวัตถุบูชาอันศักดิ์สิทธิ์
2.ลัทธิบูชาพระวิษณุ(Vaisaavism) หรือไวษณพนิกาย หรือ ไวษณวะ เนื่องจากพระวิษณุเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย และเชื่อว่าเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีพระวิษณุจะอวตารมาเกิดเพื่อแก้ไขปัญหา ผุ้นับถือทุกคนจะมีเครื่องหมายที่โคนผมเหนือหน้าผากถึงคิ้วด้วยสีแดง หรือขาว ตั้งฉาก2เส้น และที่ดั้งจมูกมีรอยเท้าของพระวิษณุเป็นเครื่องหมาย
3.ลัทธิบูชามเหสีของพระผู้เป็นเจ้า(Saktism)หรือศักติ อุดมคติลัทธินี้แสดงออกในรูปสตรีที่เป็นผุ้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง เกิดพิธีกรรมต่างๆมากมาย เช่น การบูชาเจ้าแม่กาลี เจ้าแม่ทุรคา พระแม่อุมา การฆ่าสัตว์บูชายัญ
4.ลัทธิตันตระ เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นมาจากคัมภีร์ปุราณะ มีจุดประสงค์เพื่อยกย่องและแสดงความจงรักภักดีต่อพระศิวะ หรือพระวิษณุ(นารายณ์)แลมเหสีคือพระนางปาราวดี(อุมา)ให้เด่นกว่ามหาเทพอื่น
-------------------------

ลัทธิขงจื๊อ/เต๋า

ลัทธิขงจื๊อ
ขงจื๊อ มีชื่อแบบสามัญว่า ข่งชิว บรรพบุรุษของ ขงจื๊อ เดิมเป็นชนชั้นสูงใน ประเทศซ่ง ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดเหอหนาน ภายหลังพวกเขาได้อพยพไปอยู่ในประเทศหลู่ (ปัจจุบันคือซานตง) ภายหลังบิดาของขงจื๊อ ถึงแก่กรรม แม่ผู้ยังเยาว์วัยได้หอบหิ้วขงจื๊อเข้าไปอยู่ในเมือง ชวีฝู่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศหลู่ ผู้เป็นแม่เป็นห่วงเรื่องการศึกษาของขงจื๊อเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการจะมีชีวิตที่มีอนาคตนั้น ขงจื๊อต้องเป็นขุนนาง และมีวิธีเดียวที่จะบรรลุได้ คือการเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นหนทางของการมีความรู้นั่นเอง ขงจื๊อเป็นเด็กที่เชื่อฟังคำของมารดาเป็นอย่างยิ่ง ตั้งใจเรียนหนังสืออย่างจริงจังและขยันขันแข็ง อ่านหนังสือจนลืมพักผ่อนบ่อยๆ แต่ละวันๆ มารดาต้องเตือนให้พักผ่อน เขาจึงจะหยุดพักผ่อน ซึ่งก็เป็นการพักผ่อนเพียงชั่วครู่ เขามักจะพูดว่า เรียนหนังสือต้องเรียนให้ดี การทำอะไรทั้งมวลต้องไม่หยุดกลางคัน
ตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม ขงจื๊อมีความรู้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็เป็นผู้มีชื่อเสียงของประเทศหลู่คนหนึ่งแล้ว เมื่ออายุ 20 ปีเศษ มีบุตรชายหนึ่งคน ฮ่องเต้ของประเทศหลู่ ได้ส่งปลา หลี่-ยวี๋ มาแสดงความยินดี ลูกชายของขงจื๊อจึงมีชื่อว่า หลี่ ( ขง หลี่ )แม้ว่าขงจื๊อจะมีชื่อเสียง แต่ก็เป็นผู้เปิดกว้าง ถ่อมตน มักจะพูดว่า เรื่องที่ตัวรู้นั้นยังมีไม่มาก ดังนั้นเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านต่างชอบเขาโดยทั่วกัน
ขงจื๊อเป็นผู้ที่มีความชาญฉลาดเป็นเลิศ เขามีดำริที่จะทำอะไรให้แก่ประเทศชาติเพื่อให้ประเทศหลู่เป็นประเทศที่เข้มแข็งประเทศหนึ่ง แต่เหล่าขุนนางที่เสนอหน้าต่อฮ่องเต้พูดถึงขงจื๊อแต่เรื่องไม่สร้างสรรค์ ดังนั้นเขาจึงได้เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยอยู่ 2 ครั้ง ระหว่างอายุ 20 - 27 ปี จนกระทั่งในปี 501 ก่อน ค.ศ. อายุได้ 51 ปี ขงจื๊อจึงได้รับโองการจากฮ่องเต้ให้ดูแลกิจการภายในเมืองหลวง และภายหลังฮ่องเต้ทรงเห็นผลงานที่สำเร็จเรียบร้อยทั้งหลาย ยิ่งมอบงานสำคัญให้ขงจื๊อมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศหลู่เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว
ประเทศฉี ซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศหลู่ เป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง ฮ่องเต้ประเทศฉี มีความกังวลต่อความเจริญของประเทศหลู่ จึงเกิดความคิดที่จะเชิญฮ่องเต้ประเทศหลู่มาพบปะสนทนาเจรจาความเมือง แล้วลักพาตัวฮ่องเต้ประเทศหลู่ เพื่อจะทำให้ประเทศฉีปกครองประเทศหลู่ได้
ก่อนที่ฮ่องเต้หลู่จะไปร่วมประชุมสนทนา ขงจื๊อได้กราบทูลว่าเคยได้ยินผู้อื่นพูดว่า การแลกเปลี่ยนใด ๆ กับต่างประเทศต้องเตรียมกำลังทหารให้พร้อม การเจรจาจึงบรรลุจุดประสงค์ ดังนั้น เห็นควรนำกองทหารติดตามฮ่องเต้ไปด้วย ฮ่องเต้หลู่เห็นชอบกับขงจื๊อ
วันนัดพบมาถึง ระหว่างที่ฮ่องเต้ 2 แผ่นดินกำลังเจรจากัน คนของฮ่องเต้ฉีได้เข้ามารายงานว่าได้เตรียมคณะเต้นรำไว้พร้อมแล้ว จะขอเริ่มการแสดงให้ชม ฮ่องเต้ฉี อนุญาตโดยไม่ลังเล บรรดานักแสดงทุกคนมีอาวุธ อีกทั้งการปรากฎตัวก็ดูไม่เหมือนคณะเต้นรำ ขงจื๊อเห็นสถานการณ์ไม่ดี ก็ตะโกนด้วยเสียงอันดังขึ้นว่า "ฮ่องเต้ของ 2 ประเทศกำลังสนทนากันอยู่ในเรื่องสำคัญ ทำไมจึงอนุญาตให้ผู้คนเหล่านี้เข้ามาเต้นรำ ขอให้สั่งให้พวกเขาออกไปเดี๋ยวนี้" ฮ่องเต้ฉี เห็นอาวุธมีดที่ตัวขงจื๊อ ซึ่งยืนประชิดอยู่ ก็รู้ว่าต้องให้นักแสดงเหล่านั้นออกไป และฮ่องเต้ฉี ทราบว่ากองทหารของประเทศหลู่ ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล แผนการณ์จับตัวฮ่องเต้หลู่ไม่ประสบผลสำเร็จแน่นอน จึงประกาศจบการสนทนา
ระหว่างที่ขงจื๊อเป็นขุนนางประเทศหลู่ ประเทศนี้มีความเข้มแข็งมาก คุณภาพของชีวิตของประชาชนยิ่งดีวันดีคืน ฮ่องเต้และประชาชนล้วนเคารพนับถือขงจื๊อ
คัมภีร์ของศาสนาขงจื๊อ คือเกงทั้ง 5 และ ซูทั้ง4
เกงทั้ง 5 ประกอบด้วย
1. ซี-กิง พรรณนาถึงหลักศีลธรรม และพระเกียรติพระราชกรณีกิจของกษัตริย์ มี 305 บท
2.ซู-กิง มีเนื้อหาประวัติศาสตร์จีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ถึง ราชวงศ์มุกุง
3.ยิ-กิง บรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงทางจักรวาลวิทยา
4. ลิ-กิง เป็นคัมภีร์ว่าด้วยจารีต ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ
5. ซุน-ชิว เป็นคัมภีร์ที่บรรยายถึงประวัติศาสตร์สมัยเจ้าผีครองแคว้นลู่ 12 คน
ซูทั้ง 4 ประกอบด้วย
1. ต้าเซี่ยว มีเนื้อหาว่าด้วยคุณธรรม แต่งโดยศิษย์ของขงจื๊อ
2. จุง-ยุง ว่าด้วยการปฏิบัติสายกลาง
3. ลุนยู เป็นคัมภีร์รวบรวม ภาษิต ของขงจื๊อ
4. เม่งจื๊อ รวบรวมคำสอนของขงจื๊อขึ้นเป็นคัมภีร์
ตามทัศนะของขงจื๊อแล้วท่านเห็นว่า ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการเมืองต้องอยู่ด้วยกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้โดยจุดศูนกลางอยู่ที่จริยศาสตร์ หรือ ศีลธรรม
โลหิตแห่งชีวิต คือ ความรัก กระดูกสันหลังแห่งชีวิต คือ คุณธรรม
หัวใจนักปกครอง มี 5 ประการ คือ
1. เหยิน หมายถึง ความเมตตากรุณา 2. ยิ หมายถึง ความถูกคุณธรรม
3. ลิ หมายถึง ความเหมาะสม 4.ซิ หมายถึง ปัญญา 5. ซุณ หมายถึงความเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ สายสัมพันธ์ทั้ง 5
งานหลักของขงจื๊อ คือ งานแก้ไขสังคม ชำแหละ ความฟอนเฟะของสังคมให้สะอาด และความเหลวแหลกให้เรียบร้อย จึงได้วางความสัมพันธ์ไว้ให้บุคคลพึงปฏิบัติต่อกัน 5 สาย คือ
1.สายสัมพันธ์ระหว่างนักปกครองกับผู้ใต้ปกครอง 2. สายสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร
3. สายสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา 4. สายสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง
5. สายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน
ศาสนาขงจื๊อมีจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร คือ เทียนหรือสวรรค์ เอกชนผู้ปฏิบัติชอบตายไปแล้วก็เป็นวิญญาณฝ่ายชอบที่จะเข้าถึงสวรรค์ได้ในที่สุด วิธีปฏิบัติให้เข้าถึงสวรรค์ได้จะต้องตั้งอยู่ในคุณธรรมของศาสนาโดยมีจริยธรรมทางกายและใจอย่างครบถ้วยในตนเอง
สัญลักษณ์ของศาสนาขงจื๊อโดยตรงได้แก่ รูปของขงจื๊อ อาจจะเป็นรูปปั้น รูปหล่อ หรือแม้แต่รูปเขียน รูปวาด โดยอ้อมได้แก่ รูปคนจีนแต่งตัวโบราณ กำลังประสานมือแสดงคารวะต่อกัน เป็นภาพแสดงถึงวัฒนธรรมหรือมารยาททางสังคม ซึ่งขงจื๊อได้สอนเอาไว้ในคัมภีร์ลี-กิง สัญลักษณ์อีกอย่างก็คือ หยิน-หยาง เป็นภาพวงกลมแบ่งเป็น 2 ส่วนเเท่ากันด้วยเส้นเว้า อันแสดงถึงธรรมชาติของโลก และของมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นคู่ ๆ เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ของศาสนาเต๋า แม้ในสมัยราชวงศ์ซุงจะมีศาสนิกชนพวกใหมที่ยอมรับเอาความคิดเรื่อง หยินหยาง แต่เราก็ไม่อาจจะจำแนกได้ขนาดถึงเป็นนิกายใหม่
พิธีกรรมที่สำคัญ
1.พิธีบูชาขงจื๊อ ที่หลุมศพขงจื๊อ จะมีผู้ไปเส้นไหว้บูชาเป็นประจำ และมีการบูชาประจำปีประมาณปีละ 2 ครั้ง โดยแต่ละเมืองจะมีข้าราชการในหัวเมืองเป้นผู้นำ ส่วนในเมืองหลวงองค์จักรพรรดิจะเป็นผู้รับหน้าที่เอง ส่วนพิธีธรรมดาจะมีประมาณเดือนละ 2 ครั้ง มีการใช้สัตว์เซ่งไหว้ที่แท่นบูชา ประมาณ ปี ละ 3 - 4 หมื่นตัว
2.พิธีบูชาฟ้าดิน พระจันทร์ พระอาทิตย์ ปีหนึ่งจะมี ประมาณ 4 ครั้ง โดยจะบูชา ฟ้า 1ครั้ง ดิน 1ครั้ง พระจันทร์ 1 ครั้ง พระอาทิตย์ 1 ครั้ง ใน 4 ฤดู ณ สถานที่ 4 ทิศ ของ กรุงปักกิ่ง
ครั้งที่สำคัญที่สุดคือพิธีบูชาฟ้าตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม ในพิธีจะมีดนตรี โคมไฟ เครื่องเซ่งไหว้ แต่ในปัจจุบันหาดูได้ไม่ง่ายนัก
3.พิธีบูชาเทียน และวิญญาณบรรพบุรุษ ชาวจีนเชื่อว่ามี เทพเจ้าเทียน และทรงประทับอยู่บนฟากฟ้า ดังนั้นเขาจะทำการบูชาเเทพเจ้าเทียน และวิญญาณบรรพบุรุษ พร้อมกันเสมอ


ลัทธิเต๋า (ภาษาจีน: 道教, พินอิน: Dàojiao)
เป็นลัทธิและศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ โดยคำว่า เต๋า แปลว่า "หนทาง" ไม่สามารถที่จะรู้จากอักษรและชื่อ ถ่ายทอดไม่ได้ เล่าจื๊อเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ได้เขียนข้อความสื่อถึงเต๋าในชื่อหนังสือว่า เต๋าเต็กเก็ง (Tao Te Ching) (道德經)
หยินหยาง ยังมีชื่อเรียกอีกว่า คติทวินิยม, พุท, อัว หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นของคู่ตรงกันข้าม ,สิ่งที่เป็นของคู่ ของคู่อันพึ่งทำลาย ของคู่อันทำให้สมดุล ธรรมชาติประกอบด้วยของคู่
หยาง คือพลังบวกมีลักษณะสีแดง เป็นพลังเพศชาย พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความอบอุ่น สว่างไสว มั่นคง สดใส เช่น ดวงอาทิตย์ ไฟ ฯลฯ
หยิน คือพลังลบ มีลักษณะสีดำ เป็นพลังเพศหญิง พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความหนาวเย็น ความมืด อ่อนนุ่ม ชื้นแฉะ ลึกลับ และเปลี่ยนแปลง เช่น เงามืด น้ำ ฯลฯ เอกภพเกิดขึ้นโดยมีหยินและหยาง จากการปะทะกันของสองสิ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็อุบัติขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีพลังทั้งสองนี้ทั้งนั้น บางครั้งหยินอาจมีพลังแข็งแรง แต่บางครั้ง หยาง ก็มีพลังมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ท่อนไม้ ตามปกติเป็นหยิน แต่เมื่อโยนเข้าไปในกองไฟ ก็เปลี่ยนรูปเป็นหยางไป ในชีวิตหยินและหยางก่อให้เกิดความล้มเหลวและความสำเร็จเป็นต้น เช่นเดียวกัน หยางและหยินไม่ใช่เป็นตัวแทนของความดีและความชั่ว แต่ทั้งสองนี้มีความจำเป็นต่อกฏเกณฑ์และระเบียบของเอกภพ ทั้งสองนี้ไม่ใช่อยู่ในภาวะปะทะกันตลอดเวลา แต่ยามใดมีความสามัคคีกัน ทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งดีด้วยกัน
--------------------